ปวดฟัน ถอนฟันหรือรักษารากฟัน

ปวดฟัน! ถอนหรือรักษารากฟันดี ? ไขข้อสงสัยกับคุณหมอ TDH

หลายคนที่กำลังทรมานกับอาการปวดฟัน อาจลังเลว่าเราควรเลือกรักษาด้วยวิธีไหน ให้หายขาดและดีต่อสุขภาพช่องปากมากที่สุด อย่างการรักษารากฟัน ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้เราสามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ต้องมาพบคุณหมอหลายครั้ง และใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนการถอนฟัน อาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่า เร็วกว่า จบในครั้งเดียว และประหยัดกว่า แต่ก็ต้องแลกกับการสูญเสียฟันธรรมชาติไป ในบทความนี้คุณหมอ TDH จะมาไขข้อสงสัยว่า เราควรเลือกรักษาอาการปวดฟันด้วยวิธีไหน ถึงจะตรงกับสาเหตุที่เราเป็นและให้ผลดีที่สุด

สาเหตุการปวดฟันของเราเกิดจากอะไร

ก่อนจะเริ่มการรักษา คุณหมอต้องทราบก่อนว่าอาการปวดฟันของเราเกิดจากอะไร เนื่องจากสาเหตุที่ไม่เหมือนกัน ก็อาจมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปด้วย โดยสาเหตุของอาการปวดฟันที่เจอได้บ่อย ได้แก่

  • ฟันผุถึงโพรงประสาท
  • ฟันแตก ฟันร้าว
  • โรคเหงือก

เมื่อคุณหมอวินิจฉัยหาสาเหตุได้แล้ว ก็จะหาแนวทางรักษาที่เหมาะกับแต่ละเคสต่อไป เรามาดูกันว่าอาการปวดฟันที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่ว่ามานี้ มีวิธีการรักษายังไงบ้าง

ปวดฟันเกิดจากอะไร

1. ฟันผุถึงโพรงประสาท

ฟันผุถึงโพรงประสาทฟัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าฟันผุลึก มักเกิดจากการปล่อยให้ฟันผุมาเนิ่นนานแล้วไม่รีบรักษา จนเชื้อโรคแทรกซึมเข้าไปยังโพรงฟัน ทำให้เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันอักเสบ และเกิดอาการปวดฟันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเวลาที่เคี้ยวอาหาร มีเศษอาหารมาติดในรูฟันผุ รับประทานของร้อน ของเย็น หรือมีอะไรมาโดนฟัน และหากเรายังปล่อยไว้ เชื้อโรคก็อาจเข้าไปยังปลายรากฟัน ทำให้ปลายรากฟันติดเชื้อเป็นหนอง หรือลุกลามไปยังฟันซี่อื่นๆ และอวัยวะข้างเคียงได้

การรักษาฟันผุถึงโพรงประสาท

สำหรับอาการปวดฟันที่เกิดจากฟันผุลึก ส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษารากฟัน ซึ่งขั้นตอนคร่าวๆ ก็ได้แก่ การทำความสะอาดโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อ หากมีการติดเชื้อถึงปลายรากฟันก็ต้องขูดเอาเส้นประสาทที่ติดเชื้อออกด้วย จากนั้นจึงอุดซ่อมแซมคลองรากฟันเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาอีก ซึ่งต้องนัดหมายมารักษา 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ ถ้าฟันผุเสียหายมากจนเนื้อฟันเหลือน้อย คุณหมอก็อาจพิจารณาให้ทำครอบฟันสวมทับเพื่อให้ฟันแข็งแรง ไม่แตกหักง่ายในอนาคต

2. ฟันแตก ฟันร้าว

ฟันแตก ฟันร้าว เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปวดฟันรุนแรงได้ เนื่องจากโพรงประสาทฟันจะเปิดเผยสู่ภายนอกผ่านรอยร้าวนั้น พอเราดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น หรือเคี้ยวอาหาร ก็มักทำให้เกิดอาการเสียวฟันและปวดฟันตามมา โดยสาเหตุของฟันแตก ฟันร้าว เกิดจากการเคี้ยวของที่แข็งเกินไป การนอนกัดฟันบ่อยๆ หรือเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งมักเกิดกับฟันกรามใหญ่หรือฟันกรามน้อย และคนไข้มักมีอาการปวดฟันแบบเป็นๆ หายๆ แต่หากรอยแตกร้าวนั้นลึกมาก คนไข้ก็อาจรู้สึกปวดฟันอยู่ตลอด และอาจกลายเป็นสาเหตุที่ต้องถอนฟันได้

การรักษาฟันแตก ฟันร้าว

การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง ขนาด ความลึก และลักษณะของรอยแตกร้าว รวมถึงอาการของคนไข้ โดยแนวทางการรักษาทั่วไป มีดังนี้

  • หากรอยแตกร้าวมีขนาดเล็ก และไม่ได้ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง คุณหมออาจรักษาด้วยการเคลือบหรืออุดฟัน เพื่อซ่อมแซมฟันที่แตกร้าว และป้องกันไม่ให้รอยมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • หากรอยร้าวมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือรักษาด้วยการอุดฟันแล้วไม่ได้ผล คุณหมอจะแนะนำให้ทำครอบฟันทับฟันซี่ดังกล่าว โดยอาจให้สวมครอบฟันชั่วคราวเพื่อดูอาการก่อนประมาณ 1 เดือน จากนั้นจึงนัดมาทำครอบฟันถาวร
  • หากรอยแตกลึกถึงโพรงประสาทฟัน หรือมีการอักเสบในโพรงฟันด้วย คุณหมออาจทำการรักษารากฟัน แล้วตามด้วยการครอบฟันถาวร
  • ในกรณีที่เนื้อฟัน เส้นประสาทในฟัน หรือรากฟันเสียหายอย่างรุนแรง จนไม่สามารถบูรณะฟันได้ อีกทั้งคนไข้มีอาการปวดฟันหนักมาก ก็อาจจำเป็นต้องถอนฟันออกไปเป็นวิธีสุดท้าย

3. โรคเหงือก หรือโรคปริทันต์

โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการปวดฟันที่เจอได้ค่อนข้างบ่อย โดยโรคเหงือกอักเสบมักเกิดจากการดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดีพอ ทำให้มีการสะสมของคราบหินปูนและแบคทีเรียจำนวนมาก ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะปล่อยกรดและสารที่กระตุ้นการอักเสบออกมา นอกจากนี้ ความเครียด พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และปัญหาสุขภาพบางอย่าง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบได้เช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากอาการปวดฟันแล้ว อาการอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าเราอาจเข้าข่ายเป็นโรคเหงือกอักเสบ ได้แก่

  • มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
  • เหงือกแดง บวม หรือนุ่มขึ้น
  • เหงือกร่น จนทำให้ฟันดูยาวขึ้น หรือเหมือนมีร่องระหว่างเหงือกและฟัน
  • ฟันเริ่มโยกเวลาเคี้ยวอาหาร
  • มีกลิ่นปาก
  • มีหนองไหลออกมาจากร่องเหงือก

คำแนะนำ: โรคเหงือกอักเสบและปริทันต์ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา ก็อาจทำให้ฟันหลุดออกจากกระดูกเบ้าฟัน และเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟันได้

การรักษาโรคเหงือก

โรคเหงือกอักเสบ จะต้องทำการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเหงือก หรือปริทันตแพทย์ โดยวิธีการรักษาก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ซึ่งแนวทางการรักษาทั่วไป ได้แก่

  • การเกลารากฟันและขูดหินปูน เพื่อขจัดคราบพลัคออกจากฟันและร่องเหงือก ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียได้
  • การผ่าตัดเปิดร่องเหงือกเพื่อทำความสะอาด มักทำในคนไข้ที่อาการของโรคค่อนข้างรุนแรง
  • การศัลยกรรมปลูกเหงือก ทำเพื่อเพิ่มความหนาของเหงือกที่ร่นหรือเสียหาย โดยจะใช้เนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นในช่องปากมาปลูก
  • การผ่าตัดตกแต่งเหงือก มักทำร่วมกับการทำครอบฟัน เพื่อตกแต่งเหงือกและฟันที่เสียหายให้กลับมาสวยงาม

คำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอ TDH

จะเห็นได้ว่าอาการปวดฟันอย่างเดียว อาจบ่งบอกถึงสารพัดปัญหาในช่องปากที่ต่างกันไป ดังนั้น ใครที่เริ่มมีอาการปวดฟันจึงควรรีบมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหาสาเหตุและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยไว้ก็อาจทำให้ความผิดปกตินั้นลุกลามรุนแรง ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น

ใครที่สนใจอยากปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับฟันและช่องปาก สามารถขอคำปรึกษาออนไลน์กับคุณหมอ TDH Dental ประสบการณ์ใหม่ของวงการทันตกรรม ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรือช่วงเวลาไหนก็ตาม คุณจะได้พูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์โดยตรง เพียงเท่านี้การดูแลช่องปากและฟันก็กลายเป็นเรื่องง่ายและไม่ยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว

Related posts

เว็บไซต์นี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ (Cookies) เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ได้ที่
ยอมรับ
ปฏิเสธ
Privacy Policy